มาลองเล่น Meshtastic : DM หากันแบบส่วนตัวไม่ต้องพึ่งอินเตอร์เน็ต

siamstr Sep 16, 2024

สวัสดีครับเพื่อน ๆ ชาว #siamstr วันนี้ผมจะมาแนะนำ Meshtastic เครื่องมือสื่อสารที่ไร้ศูนย์กลางที่เพื่อน ๆ ไม่ควรพลาดเป็นอันขาด!! เพราะมันคือเครือข่ายการสื่อสารที่ใช้เทคโนโลยี LoRa (Long Range Radio) ซึ่งสามารถส่งข้อความได้ไกลมาก ๆ เป็นกิโลเลยทีเดียว ที่สำคัญไม่ต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตและไร้การสอดส่องและควบคุมจากรัฐ

Meshtastic คืออะไร?

Meshtastic จะสร้างเครือข่าย "mesh" โดยที่ทุกอุปกรณ์ในเครือข่ายจะช่วยกันรับส่งข้อความต่อ ๆ กันไป ทำให้ทุกคนในเครือข่ายสามารถรับข้อความได้ แม้ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน นอกจากนี้ ข้อความทั้งหมดจะถูก เข้ารหัสไว้ ทำให้เฉพาะผู้ส่งและผู้รับเท่านั้นที่สามารถอ่านได้ ส่วนอุปกรณ์ที่ส่งต่อข้อความจะไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้เลย ในการใช้งานนั้นเพื่อน ๆ สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ Meshtastic เข้ากับโทรศัพท์มือถือเพื่อทุกคนในเครืองข่ายสามารถสื่อสารกันได้ง่าย ๆ ผ่านแอปส่งข้อความบนมือถือ
image

จับมือทำ เริ่มต้นใช้งาน Meshtastic แบบง่าย ๆ

เพื่อน ๆ อยากลองใช้ Meshtastic แล้วใช่มั้ย? มาดูขั้นตอนง่ายๆ กันเลยครับ

1. หาซื้ออุปกรณ์ที่ต้องใช้

ขั้นแรกเลย เราต้องมีอุปกรณ์ LoRa กันก่อนครับ ส่วนตัวผมแนะนำบอร์ด LoRa32 ของ LILYGO ครับ เพราะหาซื้อในไทยและต่างประเทศได้ง่ายมาก โดยจะมีให้เลือกหลายรุ่นมากตามความชอบและการใช้งาน ผมได้ทำตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติของแต่ละรุ่นดังนี้

Name MCU RF option Battery GPS Link
Lora32 2.1-1.6 ESP32 433/868/915/923 Mhz no no https://a.aliexpress.com/_opRiKMR
Lora32 T3S3 ESP32 433/868/915 Mhz / 2.4 GHz no no https://a.aliexpress.com/_opRiKMR
T-Beam v1.1 ESP32 433/868/915/923 Mhz has batt slot yes https://a.aliexpress.com/_oneeH43
T-Watch S3 ESP32 433/868/915 Mhz yes no https://a.aliexpress.com/_olkXkLlData
T-Deck ESP32 433/868/915 Mhz yes no https://a.aliexpress.com/_olkXkLlData
T-Echo nRF52840 433/868/915 Mhz yes yes https://a.aliexpress.com/_olkXkLlData

image

คุณสมบัติสำคัญที่ควรพิจารณาเป็นหลักในการเลือกอุปกรณ์เลยคือความถี่คลื่นวิทยุ (radio frequency) ครับ เพราะการเลือกความถี่สำหรับใช้งานกับ Meshtastic นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น กฎระเบียบในประเทศ, ระยะทางที่ต้องการสื่อสาร, และความหนาแน่นของสัญญาณในพื้นที่นั้นๆ
อุปกรณ์ LoRa ทำงานที่ความถี่ต่างกันในแต่ละภูมิภาค ตามกฎระเบียบในแต่ละประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาใช้คลื่น 915 MHz, ยุโรปใช้ 868 MHz สำหรับประเทศไทยความถี่ที่ได้รับอนุญาตและไม่มีข้อจำกัดในการใช้งานมีดังนี้ครับ:

  • 433 MHz: ความถี่นี้เป็นที่นิยมใช้ในหลายประเทศรวมถึงในยุโรปสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานต่ำและไม่ต้องขอใบอนุญาต (LPWAN) เหมาะสำหรับการใช้งานส่งสัญญานได้ไกลเพราะความยาวคลื่นยาวที่สุดในบรรดาตัวเลือกทั้งหมด
  • 923 MHz: ความถี่นี้ใช้ได้ในหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงประเทศไทยที่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ IoT ที่สื่อสารระยะไกลอย่าง LoRa ได้รับอนุญาตให้สามารถส่งสัญญาณได้ด้วยกำลังงาน (50mW) ที่สูงกว่าคลื่น 433 MHz (10mW) ถือว่าเป็นความถี่ที่เหมาะสำหรับการใช้งานในไทย
  • 2.4 GHz: เป็นความถี่ที่ใช้กันทั่วโลก และนิยมใช้กับอุปกรณ์หลายประเภท เช่น Wi-Fi และ Bluetooth ความถี่นี้สามารถใช้ในทั่วโลกได้อย่างเสรี แต่มีระยะการส่งสัญญาณที่สั้นกว่าและไม่ค่อยทะลุทะลวงสิ่งกีดขวางได้ดีนัก เหมาะกับพื้นที่ในเมือง

ส่วนตัวผมเลือกใช้ความถี่ 433 MHz เพราะมันทะลุทะลวงสิ่งกีดขวางได้ดี เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ที่มีสิ่งกีดขวางเยอะ เช่น ป่าเขา และช่วยให้การสื่อสารครอบคลุมระยะทางไกลโดยไม่ต้องพึ่งอินเทอร์เน็ตครับ

2. ประกอบอุปกรณ์

เมื่ออุปกรณ์มาถึง ก็จัดการประกอบเลย! อย่าลืมต่อเสาอากาศและแบตเตอรี่ (ถ้ามี) ให้เรียบร้อยก่อนเปิดเครื่องล่ะ ถ้ารุ่นที่ไม่มีแบตก็ต้องหา power bank อแดปเตอร์จ่ายไฟไว้ให้พร้อมครับ
image

3. Flash Firmware

ต่อไปก็มาลงเฟิร์มแวร์ล่าสุดให้กับอุปกรณ์ของคุณ โดยใช้เครื่องมือ Meshtastic Flasher ซึ่งแนะนำให้ใช้ผ่านเบราว์เซอร์ Chrome จะดีที่สุด
ภายในเว็บให้เลือกอุปกรณ์ตามรุ่นที่เราซื้อมา เลือกเวอร์ชันของ firmware เป็นล่าสุด แล้วกด flash ได้เลยครับ
![imageimage![image]()
]()

4. ติดตั้งแอป Meshtastic

จากนั้นก็ดาวน์โหลดแอป Meshtastic มาลงบนมือถือของคุณได้เลย
iPhone: https://meshtastic.org/docs/software/apple/installation/
Android: https://meshtastic.org/docs/software/android/installation/

หลังจากนั้นเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ เปิดแอป Meshtastic แล้วเชื่อมต่ออุปกรณ์ LoRa กับมือถือผ่าน Bluetooth ด้วยการกดที่เครื่องหมาย + ที่ขวาล่างในหน้า setting ดังรูป
image
แอปจะทำการค้นหาและเชื่อมต่ออุปกรณ์ ให้ทำการกรอกหมายเลขตามที่ปรากฏบนหน้าจอของอุปกรณ์ lora
image

5. ปรับแต่งการตั้งค่า

เข้าไปตั้งค่าในแอป เลือกภูมิภาคตามความถี่ของอุปกรณ์ที่เราซื้อมาครับ ยกตัวอย่างเช่น

  • ความถี่ 433 MHz ให้เลือก EU_433
  • ความถี่ 923 MHz ให้เลือก TH
  • ความถี่ 2.4 GHz ให้เลือก LORA_24

หลังจากนั้นตั้งชื่ออุปกรณ์ให้เท่ ๆ และปรับแต่งค่าอื่น ๆ ได้ตามใจชอบ
image

6. ทดสอบส่งข้อความ

ลองส่งข้อความทดสอบไปที่ช่องแชทสาธารณะ "LongFast" ดู แล้วรอคำตอบจากเพื่อน ๆ ในเครือข่าย
image

7. สนุกกับการสื่อสารแบบไร้ศูนย์กลาง

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็เริ่มใช้ Meshtastic ได้เลยครับ ลองสำรวจฟังก์ชันต่าง ๆ และสนุกไปกับการแชทส่วนตัวแบบไม่ต้องพึ่งพาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตกันเลยครับ
image

สรุปส่งท้าย

Meshtastic เป็นโซลูชันการสื่อสารที่ดีและประหยัดสุด ๆ เหมาะกับการใช้ในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต เพราะมันทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายที่รัฐควบคุม เพื่อน ๆ สามารถใช้ Meshtastic ได้อย่างอิสระ ใครได้ลองกันแล้วเป็นยังไงก็อย่าลืมทักกันเข้ามานะครับ จะ DM ผ่าน meshtatic นี้หรือ nostr ก็ได้ หากเพื่อน ๆ มีข้อสงสัยหรือติดปัญหาอะไรก็ทักมาถามกันได้ ไว้พบกันใหม่นะครับ :)

Tags

Pruk

Bitcoiner, Researcher, Beer lover and Coffee addict